13 ตุลาคม วันนวมินทรมหาราช วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9

ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันนวมินทรมหาราช เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

วันนวมินทรมหาราช มีความสำคัญ คือเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แปลว่าวันระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ เนื่องในการพระราชพิธี บรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ทรงดำรงสิริราชสมบัติ 70 ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สิริพระชนมายุ 88 พรรษา 10 เดือน 8 วัน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จผ่านพิภพในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร” พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่ปวงชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระราชกรณียกิจตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ครองราชย์ มีดังนี้

1. พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงค้นคว้าเรื่องน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตร และป้องกันอุทกภัยในแต่ละปี ถือเป็นยุคทองของการชลประทานไทยที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียทั่วประเทศ ตัวอย่างโครงการพระราชดำริที่สำคัญ คือ โครงการฝนหลวง ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมถึงการสร้างเขื่อน ประตูน้ำ โครงการบำบัดน้ำเสียต่างๆ ที่ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาการจัดการน้ำอย่างครบวงจร

2. พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจัดการปัญหาทรัพยากรดิน ทั้งดินเปรี้ยว ดินเค็ม เพื่อให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูก ในปี พ.ศ. 2547 สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้มีมติเสนอให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก เพื่อยกย่องการทรงงานเรื่องดิน โครงการที่สำคัญได้แก่ โครงการแกล้งดิน ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส แก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่พรุ ให้เหมาะสมกับการปลูกข้าวและปลูกพืชไร่

3. พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงพระราชดำริว่าป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของประเทศ เสด็จพระราชดำเนินพัฒนาโครงการหลวง พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และพระราชทานคำแนะนำให้ชาวไทยภูเขาเปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นมาปลูกพืชผักและดอกไม้เมืองหนาว เช่น ถั่วแดงหลวง มะเขือเทศ แอปเปิล สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 สาลี่ พลับ ลูกท้อ ชา และกาแฟอาราบิก้า เป็นต้น สร้างสถานีวิจัยเกษตร และศูนย์พัฒนาพืช ทรงวางแนวทางด้านการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืนเพื่อรักษาระบบนิเวศของชาติ

4. โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 ในพื้นที่เขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นแปลงทดลองปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรม แปลงนาทดลอง ป่าไม้สาธิต โรงสีข้าว โรงบดแกลบ การคิดค้นพลังงานทดแทน และอื่นๆ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งศูนย์รวมนม แก้ไขปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด แปรรูปเป็นนมผงเพื่อเก็บรักษาไว้ได้นาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากนมเพิ่มเติม ในรูปแบบนมอัดเม็ด สวนดุสิต เพื่อส่งเสริมด้านโภชนาการแก่ประชาชน

5. พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้สร้างเส้นทางคมนาคมสัญจรหลายโครงการ เพื่อให้ชาวบ้านมีเส้นทางใช้ขนส่งพืชผลเกษตรไปจำหน่ายได้ง่าย ทรงติดตามปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และพระราชทานแนวพระราชดำริแก้ไขปัญหา ขยายเส้นทางถนน เพื่อลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด และดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยวิกฤติ ให้ไปถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา 

6. พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 

ต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ช่วง พ.ศ. 2496 การแพทย์และการสาธารณสุขของไทยยังไม่เจริญนัก ยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อน อหิวาตกโรค โรคโปลิโอ และโรคเท้าช้าง ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทุนการศึกษาแก่แพทย์ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงสร้างตึกโรงพยาบาล พัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุข 

7. พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงเรียนจิตรลดาสำหรับเป็นสถานที่ศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมถึงโรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้บุตรหลาน ข้าราชบริพาร และประชาชนทั่วไปได้เข้าศึกษา ทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่ระดับประถม ถึงระดับปริญญาเอก ในทุกสาขาอาชีพ ทุนพระราชทานเหล่านี้มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์และผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการสร้างอนาคตของชาติ

8. พระราชกรณียกิจด้านศาสนา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2499 และประทับศึกษาพระธรรมวินัย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หล่อพระพิมพ์พระสมเด็จจิตรลดา เพื่อพระราชทานเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร ตำรวจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อันตรายมีความเสี่ยงสูง

9. พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีต่างๆ ที่เลิกปฏิบัติไปแล้ว กลับมาฟื้นฟูใหม่ เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อรักษาประเพณีเดิน รักษาโบราณวัตถุให้อยู่ในสภาพดี และจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่างๆ เพื่ออนุรักษ์และรักษาโบราณสถาน รวมถึงการกำหนดเครื่องแต่งกาย พระราชทานแบบชุดไทยแทนการสวมชุดสากล

10. พระราชกรณียกิจด้านการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งทวีป ยุโรป และอเมริกา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ทรงพบพระประมุขของประเทศต่างๆ และประเทศไทยก็มีโอกาสได้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่สำคัญราชวงศ์ต่างๆ ทั่วโลก อาทิ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 แห่ง สหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามี เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน คาร์ลอสที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ และเจ้าชายอากิชิโนะ แห่งญี่ปุ่น

กิจกรรมในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม พ.ศ. 2566

หน่วยงานราชการและภาคประชาชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ดังนี้

1. ประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์ ทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล

สำนักนายกรัฐมนตรี จัดกิจกรรม ประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์ ทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล ที่ท้องสนามหลวง เริ่มต้น 07.30 น. และหน่วยงานอื่นๆ จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรในท้องที่ของตนเองตามความเหมาะสมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

2. วางพวงมาลา ถวายบังคม

หน่วยงานรัฐและเอกชน จัดพิธีวางพวงมาลาและถวายบังคม เช่น บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

3. สวดมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กำหนดจัดพิธีสวดพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ถวายเป็นพระราชกุศล ในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2566 เวลา 16.30 น. ณ หอประชุมพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม รวมถึงวัดทุกวัดในราชอาณาจักร และวัดไทยในต่างประเทศ จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ในวันเดียวกัน

ภาพจากเว็บไซต์ royaloffice.th

Facebook Comments Box
Scroll to Top